Background.MyEm0.Com
Background.MyEm0.Com

คณะครุศาสตร์












ประวัติพระเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจของในหลวง





ใต้ร่มเงาแห่งพระบารมี
พระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม 2470 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรส พระองค์เล็ก ในสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ โรงพยาบาลเมาน์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาซูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่พระราชบิดา ทรงศึกษาแพทย์ อยู่ ณ ประเทศนั้น โดยเมื่อประสูติ ทรงมีฐานันดรศักดิ์ เป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช


ในปีพุทธศักราช 2471 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้เกือบ 1 พรรษา ได้โดยเสด็จฯ พระราชบิดา ซึ่งทรงสำเร็จวิชาการแพทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา กลับสู่ประเทศไทย โดยได้ประทับอยู่ ณ วังสระปทุม ในปีถัดมา สมเด็จพระราชบิดา เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษฐาและพระเชษภคินี ยังคงประทับอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยทรงได้รับการเลี้ยงดูจากสมเด็จพระราชชนนี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุได้ราว 5 พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ต่อมาในปีพุทธศักราช 2476 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเมียร์มองค์ (Miremont) โดยทรงศึกษา วิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงประกาศ สละราชสมบัติและโดยที่พระองค์ไม่มีทรงพระราชโอรส หรือพระราชธิดาเลย รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้กราบบังคมทูล อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 10 พรรษา เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย ์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์ยังคงประทับ และศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต่อไป
เมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลฯ ได้เสด็จเข้าศึกษาต่อมา ในระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียน เอกอล นูแวล เดอลา ซืออิส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Rormonide) นครโลซานน์ จนสำเร็จการศึกษา และทรงได้รับประกาศนียบัตร ทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาซีค กังโตนาล (Gymnas Classique Cantonal) แห่งนครโลซานน์ จากนั้นได้เสด็จเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ (Lausanne University) โดยทรงเลือกศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ แขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
ทรงเสด็จขึ้นสืบราชสมบัติ
วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เกิดขึ้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถูกลอบปลงพระชนม์ ด้วยพระแสงปืน เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง คณะรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูล อัญเชิญสมเด็จพระน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลฯ เสด็จขึ้น สืบราชสันตติวงศ์ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ระหว่างที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยพระองค์เองได้ ทางรัฐสภาจึงได้ทำการ แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้น ประกอบด้วย
1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) ซึ่งต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร
2. พระยามานวรราชเสวี เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปีพุทธศักราช 2489


พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันสัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นองค์ประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ทรงจดทะเบียนสมรส ตามกฎหมาย เช่นบุคคลสามัญทั่วไป โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ร่วมลงนามเป็นราชสักขี ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา ผู้แทนรัฐบาลไทย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้มาร่วม ในพระราชพิธีนี้ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เสด็จฯ ขึ้นประทับ ยังห้องพระราชพิธี บนตำหนัก เพื่อรับพระราชทานน้ำ พระพุทธมนต์เทพมนต์ ตามโบราณราชประเพณี เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่าน สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด แด่สมเด็จพระราชินิสิริกิติ์ จากนั้นพระราชทาน ของที่ระลึก เป็นหีบเงินขนาดเล็ก ที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภอ. และ สก.ให้แก่พระประยูรญาติ ที่ใกล้ชิดและราชสักขี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยง เป็นการภายใน ระหว่างพระญาติสนิท และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดเพียงไม่เกิน 20 คนเท่านั้น นับเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่หมดเปลืองน้อยมาก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เป็นเครื่องแสดงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงครองราชย์ ปกครองพสกนิกร ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยพระองค์เอง อย่างเป็นทางการ ได้ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 โดยก่อนหน้านั้นบางส่วน ของพระราชพิธี ได้มีการดำเนินการ มาบ้างแล้ว คือ
พิธีทำน้ำอภิเษก จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม พุทธศักราช 2493 โดยประธานฝ่ายสงฆ์ ประกาศประชุมเทวดา เพื่อทำน้ำอภิเษก และจุดเทียนชัย ซึ่งการทำน้ำอภิเษกนั้น จะกระทำ ณ พุทธเจดีย์สำคัญๆ จำนวน 18 แห่ง ทั่วราชอาณาจักรไทย อาทิ ที่พระพุทธบาท - จังหวัดสระบุรี ที่พระปฐมเจดีย์ – จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
พิธีจารึก พระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกร ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน พุทธศักราช 2493 โดยมีหลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) เป็นอาลักษณ์จารึก พระปรมาภิไธย ในพระสุพรรณบัฏ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็นผู้จารึก ดวงพระราชสมภพ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมกฤดากร เป็นผู้แกะ พระราชลัญจากร ประจำรัชกาล และพระครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) เป็นผู้เจิมพระราชลัญจกร
พิธีถวายสักการะ สมเด็จพระบรมราชบุพการี การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันที่สำคัญ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงสรงพระมุธาภิเษก จากนั้นทรงเครื่องบรมขัตติยมหาราชภูษิตาภรณ์ เสด็จฯ ออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทรงรับน้ำอภิเษก พระสุพรรณบัฎ เบญจรสชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัตราวุธ แล้วทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม"
นอกจากนี้ในวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ได้มีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อันเป็นพิธีสุดท้ายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภากรมหลวงพิทยรัตนกิริฏกุลินี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เป็นผู้ทรงลาดพระที่ราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระราชประเพณี ที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ทุกพระองค์ จะเสด็จฯ มาบรรทมบนพระแท่นนี้เป็นเวลา 1 คืน ในโอกาศนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ให้ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ เป็นี่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีอีกด้วย
วันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ออก ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และที่สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้คณะทูตานุทูต และประชาชนชาวไทย เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลตามลำดับ นับเป็นอันเสร็จสิ้น การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทรงผนวช
ด้วยที่ทรงเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะทรง ผนวช เพื่อที่จะ ทรงมีโอกาศได้ คุ้นเคยใกล้ชิด พระธรรม คำสั่งสอน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการสนอง พระคุณพระราชบุพการี ตามคตินิยมของไทยอีกด้วย ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้ กราบบังคมทูล ขอรับเป็นภาระ ในการตระเตรียม พระราชพิธีผนวชทั้งหมด
พระราชพิธีดังกล่าว ได้ถูกจัดขึ้น ในวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ฉายา สุจิตโต ป. 7) วัดบวรวิหาร ทรงเป็นองค์อุปัชฌายะ และถวายศีล พระศาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัตน์ เป็นพระอนุศาสนาจารย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับถวาย สมญานาม ว่า ภูมิพโล
ตลอดระยะเวลา 15 วัน (ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน) ที่ทรงอยู่ใน เพศบรรพชิตนั้น ทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร และได้ทรงบำเพ็ญวัตรปฏิบัติ เยี่ยงภิกษุทั้งหลาย ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จ ออกรับบิณฑบาต จากชาวบ้านทั่วไป หรือการปฏิบัติสังฆกิจต่างๆ อย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ในระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ในการปฏิบัติ พระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งก็ทรงสามารถปฏิบัติ ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวช แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็น " สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ "
พระราชโอรสและพระราชธิดา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมี พระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซี เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2494 ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นเสด็จฯ ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ (ปัจจุบันทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิง) เพื่อสมรสกับ มิสเตอร์ปีเตอร์ เลด เจนเซ่น (Mr. Peter Jensen) ทรงมีพระโอรสและธิดา รวม 3 องค์ คือ คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น คุณภูมิ เจนเซ่น คุณสิริกิติยา เจนเซ่น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณประการมหิตลาดุลยเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์สว่างควัฒน์บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และโรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ ตามลำดับ ก่อนที่ทรงไปศึกษาต่อ ที่โรงเรียนคิงส์สกูล ที่นครซิดนีย์ จนสำเร็จการศึกษา จากวิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย เป็นที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชธิดาที่ประสูติ แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ 1 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กับทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาอีก 5 องค์ ที่ประสูติแต่หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา ดังนี้ คือ หม่อมเจ้า จุฑาวัชร มหิดล ณ อยุธยา หม่อมเจ้า วัชรเรศร มหิดล ณ อยุธยา หม่อมเจ้า จักรีวัชร มหิดล ณ อยุธยา หม่อมเจ้า วัชรวีร์ มหิดล ณ อยุธยา หม่อมเจ้าหญิง บุษยน้ำเพชร มหิดล ณ อยุธยา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนสุดา กิตติวัฒนาดุลย์โสภาคย์ ประสูติเมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2520
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาทรงอภิเษกสมรสกับเรืออากาศโทวีระยุทธ ดิษยะศริน เมื่อวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2524 ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภา จุฑาภรณ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค็เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ
ในหลวงกับสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไทย


จากการเสด็จฯออกเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยพระองค์เองนี้ ทำให้ทรงพบว่าราษฎรไทย มีปัญหาอย่างมากในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่ สามารถตัดตอนแก้ไขเฉพาะส่วนได้เลย ซึ่งหากจะทรงพัฒนาและแก้ไขแล้วจะต้อง ทรงทำไปพร้อมๆ กันทั้งหมดทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และการ สาธารณสุขด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริมและอื่นๆและเหล่านี้ คือที่มาของโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1000 โครงการ และนับวันก็จะขยายกว้างขวางออกไปตามลำดับ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะประเภท คือ
1. โครงการตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการที่ ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทดลองปฏิบัติ เป็นการส่วนพระองค์ ทั้งในและนอก เขตพระราชฐาน เพื่อทรงแสวงหาแนวทาง และวิธีปฏิบัติ ที่ให้ผลดีที่สุด ซึ่งจะทรงใช้ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการดำเนินการทดลอง จนทรงแน่ พระราชหฤทัยว่า โครงการนั้นๆ ได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ราษฎร อย่างแท้จริงแล้ว จึงจะทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามารับช่วงงาน ต่อในภายหลัง โครงการประเภทนี้ ได้แก่ โครงการทำเชื้อเพลิงแท่งแทนฟืน โครงการนมสดและนมผงอัดเม็ด การทดลองเรื่องข้าว และการทำนาในเขตพระราชวังสวนจิตลดา เป็นต้น
2.โครงการหลวง เป็นโครงการ ที่ทรงเลือก ดำเนินการ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ บนดอยต่างๆในเขต ภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยทรงให้มีการพัฒนา อาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ ให้แก่บรรดา ชาวเขาเพื่อที่พวกเขา เหล่านี้จะได้ ละเลิกการปลูกฝิ่น การทำไร่เลื่อยลอย การตัดไม้ทำลายป่า การค้าไม้ อาวุธ และของเถื่อนต่างๆ โดยให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ชาวเขา หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นไม้ดอกและไม้ผลแทนการ ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย หรือทำลายสภาพแวดล้อมเหล่านั้น จนชาวเขาเกิดความจงรักภักดีและเรียก พระองค์ท่านว่า”พ่อหลวง ทำให้โครงการของพระองค์ท่าน ได้รับการเรียกขานว่าเป็น”โครงการหลวง” ตาม ไปด้วย
โครงการหลวงนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มากมาย ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และ ได้ขยายขอบข่ายของโครงการออกไปอย่างกว้างขวางครบวงจร ปัจจุบันโครงการหลวงมีสถานวิจัย 6 สถานีสถานีส่งเสริมการปลูกพืช ทดแทนฝิ่น ซึ่งเรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจำนวน 21 ศูนย์มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทั้งหมดกว่า 300 คนโดยมีพื้นที่ การปฏิบัติงานครอบคลุม 256 หมู่บ้านในเขต 4 จังหวัดทางภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
ปัจจุบันชาวเขาที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของโครงการ ต่างมีอาชีพที่มั่นคงถาวร หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าลดน้อยลง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลทำให้โครงการหลวงได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรดีเด่น และได้รับรางวัล แม็กไซไซ สาขาการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศประจำปี 2531
3.โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน แนวพระราชดำริ และคำแนะนำให้เอกชนนำไปดำเนินการ โดยเอกชนนั้นๆ จะร้องรับผิดชอบ ในด้านกำลังเงิน กำลังปัญญา และแรงงานรวมไปถึงการติดตามผลงาน ด้วยตนเอง โครงการพัฒนา หมู่บ้านสหกรณ์เนินเดินแดงอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการสารนุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น
4.โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา แล้วทรงเสนอแนะ ให้รัฐบาลร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งรัฐบาลเองก็ตระหนักถึง พราะราชปณิธิน ที่จะทรงทำทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุข ของรษฎรไทย จึงในรัฐบาลสมัยที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ขึ้นเพิ่ม ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล ติดตามผล ตลอดจนประสาน การดำเนินงานกับส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้อง กับโครงการ ตามพระราชดำรินี้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วฉับไว
โครงการตามพระราชดำรินี้ มักจะเป็นโครงการขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง โดยจะทรงเลือกทำ เฉพาะพื้นที่ ที่มีปัญหาและมีศักยภาพ ในด้านต่างๆที่จะพัฒนาขึ้นมาได้ ที่สำคัญคือ จะต้องประหยัด และก่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดต่อประชาชนที่กำลังรอรับความช่วยเหลือเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงโปรด โครงการที่ใหญ่โต สลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงเกินไป จนขาดความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และวิทยาการ ที่จะทรงนำไปใช้ ก็จะต้องไม่ขัดกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเดิมๆ ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ พระองค์ จะทรงย้ำเสมอว่าพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น หากผู้รู้หรือนักวิชาการเห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะทักท้วงแก้ไขได้ตลอดเวลา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงติดตามผล การดำเนินงานในทุกระยะว่ามีความก้าวหน้า หรือพบกับปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และจะเสด็จไปทอดพระเนตร เพื่อทรงหาทางแก้ไข อุปสรรคของโครงการ ทั้งที่อยู่ในระหว่าง การดำเนินการ หรือที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ด้วยพระองค์เองตลอด
โครงการตามพระราชดำรินี้ มีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ ครอบคลุม การพัฒนาในหลายสาขา คือ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานโดยที่น้ำเป็นปัจจัย ที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในการทำเกษตรกรรม ดังพระราชดำรัส ที่ว่า "น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตรกรรม ถ้าแก้ปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำ ที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็จะพลอยดีขึ้นติดตามมา" และจากการที่ทรงพบว่ามีพื้นที่ เกษตรกรรมหลายแห่งขาดแคลนน้ำ ที่จะใช้ในการเพาะปลูกและการบริโภค แต่อีกหลายแห่งกลับมีน้ำท่วม ทำให้พืชผลได้รับความ เสียหาย จึงทรงขอความร่วมมือ จากกรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจและศึกษาหาข้อมูล เพื่อนำมา พิจารณาจัดทำโครงการ ตามพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานขึ้น ซึ่งโครงการที่ได้ดำเนินไปแล้วนั้น อาจแยก ออกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้ 1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภค
โครงการประเภทนี้มี จำนวนมากกว่าโครงการ ประเภทอื่นๆ ซึ่งลักษณะของโครงการ จะแตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิประเทศ และแหล่งน้ำของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ จะปรากฎออกมา ในรูปของ อ่างเก็บน้ำ หรือฝายทดน้ำ ซึ่งน้ำในอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำนี้จะถูกส่งออกไปใช้สำหรับ การทำนาปลูกพืชไร่พืชผักใช้เลี้ยงสัตว์ และเพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน ในหมู่บ้านในบริเวณนั้นๆ
2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
เป็นงานสร้างฝายขนาดเล็กเป็นระยะๆ บนทางน้ำที่เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเก็บน้ำไว้ในลำน้ำ คล้ายกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อ ให้น้ำที่กักเก็บไว้ค่อยๆ ซึมเข้าไปผืนดินตามตลิ่งและท้องน้ำ เป็นการช่วยเพิ่มจำนวนน้ำให้ถูก กักเก็บไว้ในดินบริเวณที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้พื้นดินในบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้น ต้นไม้ เจริญงอกงาม นับเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อีกทางหนึ่ง โครงการประเภทนี้มีมากในเขตภาคเหนือ และมีบางส่วนที่ภาคอีสาน
3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า
ในชนบทที่อยู่ห่างไกลซึ่งมีแหล่งน้ำปริมาณมากพอ และอยู่ในพื้นที่สูง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทาน พระราชดำริ ให้ทำการจัดสร้างท่อส่งน้ำ ไปหมุนกังหัน สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก สำหรับใช้ในหมู่บ้านนั้นๆ ตัวอย่าง โครงการประเภทนี้คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำอ่างขาง ขนาด 7 กิโลวัตต์ ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
4.โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
โครงการนี้ แบ่งออกเป็น งานระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อประโยชน์ ในการเพาะปลูก กับงานระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม ในเขตชุมชน ซึ่งได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัย และระบายน้ำพื้นที่ทุ่ง ฝั่งตะวันออก ของกรุงเทพมหานคร เป็นอาทิ
5.โครงการบรรเทาอุทกภัย
เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อแก้ไข หรือช่วยบรรเทาปัญหา ที่น้ำในแม่น้ำลำคลองซึ่งมีระดับสูงมาก ในฤดูน้ำหลาก ไม่ให้ท่วมทำความเสียหาย ให้กับพื้นที่เพาะปลูกพืช หรือพื้นที่ในเขตชุมชน ตามเขตโครงการ ที่กำหนด โครงการประเภทนี้ ได้แก่ โครงการเก็บกักน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัย โดยส่วนรวมให้กับตัวเมืองเชียงใหม่ ด้านการปฏิรูปและพัฒนาที่ดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่า เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากร ส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงทรงมุ่งที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ในที่ดินและ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ได้ผลคุ้มค่าที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพัฒนา ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งหมดสภาพจากเป็นป่าสงวนของชาติแล้ว นำมาพัฒนาให้มีสภาพ เป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ แล้วนำเอามาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ต้องการ ให้ได้เข้าไปทำกิน ในที่ดินจัดสรรนั้นในรูปของสหกรณ์ โดยสมาชิกมีสิทธิ์ ที่จะทำกินในที่ดินตลอดชั่วลูกหลาน แต่ไม่มีสิทธ์ที่จะนำเอาที่ดินนั้นไปขาย ทั้งนี้เพื่อ เป็นการป้องกัน มิให้ที่ดินตกไปเป็นของนายทุน โครงการที่จัดทำขึ้นในลักษณะดังกล่าว ได้แก่
•โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี
•โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ที่ดอยขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี
•โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ที่หนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
•โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ที่ทุ่งลุยลาย จังหวัดชัยภูมิ
•โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ที่กะลุวอ จังหวัดนราธิวาส
•โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาตามพระราชดาริ ที่ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
•โครงการปฏิรูปที่ดินในที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย ์
ฯลฯ
การชะล้างพังทลายของหน้าดิน จนอินทรีย์วัตถุและแร่ธาต ุซึ่งเป็นอาหารของพืชถูกทำลายไป ทำให้ดินที่ไม่มีคุณภาพดีพอสำหรับทำการเกษตรกรรม เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพบสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผืนดิน ถูกชะล้าง พังทลายไปนั้น เกิดจากการบุกรุก ทำลายป่า ทำให้ดินขาดสิ่งปกคลุม เมื่อมีฝนตกลงมา ในปริมาณมากๆ น้ำไม่สามารถไหลซึม ลงไปในดินได้ทัน ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าพัดพาเอาหน้าดินไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า จนแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง พลอย ตื้นเขินไปด้วย
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ แห่งองค์ในหลวงของเรา ปัญหานี้ จึงได้รับการแก้ไข ด้วยการนำ หญ้าแฝกมาปลูกตามแนวไหล่เขา คันดินริมแหล่งน้ำต่างๆ ฯลฯ ซึ่งก่อนที่จะทรงนำ หญ้าแฝก มาเผยแพร่นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการศึกษาวิจัยจนพบว่าหญ้าแฝก เป็นพืชที่มีรากหยั่งลึก เป็นแนวตรงไปกับลำต้น สามารถยึดเกาะดินให้ติดแน่น ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน อีกทั้งลำต้น และใบยังสามารถสกัดดักตะกอนหน้าดินที่ถูกชะล้างไม่ให้ ไหลผ่านลงไปยังแม่น้ำ ลำคลองที่อยู่ต่ำกว่า
นอกจากนี้หญ้าแฝก เมื่อนำไปปลูก จะไม่แตกพุ่ม แพร่กระจายออกไป รบกวนพืชชนิดอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง แต่กลับให้ประโยชน์ โดยที่ราก ลำต้น และใบของมันสามารถนำไป
•ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำกระดาษ เชือก เสื่อ หมวก ตะกร้า
•ทำเป็นตับใช้มุงหลังคาที่พักอาศัย
•ทำเป็นอาหารให้แก่สัตว์ จำพวก โค กระบือ แกะ และปลาจีน
•เป็นวัสดุคลุมดินบนแปลงที่ใช้ปลูกพืชผักหรือพืชไร่ ซึ่งจะช่วยให้ดิน ที่ถูกคลุม มีความชุ่มชื่นสูง
•ใช้เป็นที่รองในคอกสัตว์
•ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมัก
•สกัดทำเป็นน้ำหอมสำหรับสบู่ เพราะมีคุณสมบัติ ช่วยป้องกันแมลงและหนูได้
ฯลฯ
ด้านเกษตรกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศประกอบ อาชีพด้านการเกษตร ซึ่งหากได้ผลดี ประชาชนของประเทศ ไม่เพียงแต่จะมีอาหารบริโภค อย่างอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่เศรษฐกิจของชาติ จะมีความมั่นคง เจริญก้าวหน้าตามไปอีกด้วย ดังพระราช ดำรัสที่ว่า “บ้านเมืองไทยของเรานี้ ถึงจะมีรายได้ทางอื่นอยู่มาก แต่ก็ต้องถือว่า เลี้ยงตัวอยู่ด้วยการเกษตร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นตลอดไป ที่จะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรม ทุกสาขาพร้อมกับ เกษตรกรทุกระดับ ให้พัฒนาก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น โดยไม่ผลาญ ทรัพยากรให้เปลืองเปล่า หากแต่ให้ได้ผลผลิตเพียงพอเลี้ยงตัว และจำหน่ายได้ดีมีรายได้ทวีขึ้น จึงจะช่วยให้เกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ และเป็นกำลังของประเทศ มีฐานะ ความเป็นอยู่ที่มั่นคงแจ่มใส แล้วทำให้ประเทศชาติสุขสมบูรณ์ขึ้นได้” ด้วยเหตุนี้พระองค์ จึงทรงริเริ่มโครงการ ตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในแขนงต่างๆ ขึ้นมากมาย จึงทรงเน้นให้ปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย ให้เพียงพอ กับการบริโภค ของแต่ละครัวเรือนเสียก่อน และหากมีส่วนที่เหลือจากการบริโภคแล้วจึงค่อยนำไปจำหน่าย
ส่วน พืชสวน พืชไร่อื่นๆ นั้นให้เกษตรกรปลูกเอาตามความสามารถของแต่ละคนไป เพราะหากเกษตรกร ยังคงต้องซื้อข้าวบริโภค ก็อาจจะถูกเอาเปรียบได้ พร้อมกันนี้ ยังทรงมีพระราชดำริ ให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ไก่ เป็ด สุกรและปลา ควบคู่ไปด้วยเพื่อที่จะได้มีอาหารประเภทโปรตีนไว้บริโภคอีกด้วย
โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ
เกิดจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตภาคเหนือ แล้วทอดพระเนตรเห็น การทำลายป่า เพื่อใช้ทำไร่เลื่อนลอย โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวไทยภูเขา จึงโปรดให้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่าและต้นน้ำ ลำธาร หยุดยั้งการปลูกฝิ่น และเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทย ภูเขา ในแถบภาคเหนือ
โครงการนี้มีการแนะนำให้ทำการปลูกพืชแบบขั้นบันได ปลูกพืชอื่นที่ให้มีรายได้ มากกว่าการปลูกฝิ่น ซึ่งก่อให้เกิดโครงการอื่นๆ เกี่ยวเนื่องกันตามมา ได้แก่ โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา โครงการเกษตรที่ราบสูง โครงการหลวงอาหารสำเร็จรูป โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว และโครงการส่งเสริมการปลูก สตรอเบอรี่ เป็นต้น
โครงการฝนหลวง
ในระยะหลังๆ เกษตรกรไทย มักประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วง เป็นระยะเวลานาน ในฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูกทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำฝนเทียมขึ้น เพื่อใช้แก้ ปัญหานี้ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล แห่งกระทรวงเกษตรทำการศึกษาค้นคว้าและพัฒนา การทำฝนเทียมให้ได้ผล ซึ่งเริ่มต้นจาก ในปีพุทธศักราช 2499 จนลุถึงปีพุทธศักราช 2512 จึงได้มีการทดลองปฏิบัติการ การทำฝน เทียมขึ้นเป็น ครั้งแรกที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และได้ทดลองปฏิบัติเรื่อยมา จนมาประสบความสำเร็จ ในปีพุทธศักราช 2514 โครงการฝนหลวงนี้ สามารถช่วยเหลือ พื้นที่เพาะปลูก ให้พ้นจากความเสียหาย อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งได้มากมายกว่า 20 ล้านไร่
โครงการธนาคารข้าว
โครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อ เป็นหลักประกันว่า เกษตรกรจะมีข้าวไว้บริโภค และเพาะปลูก ได้ตลอดทั้งปี โดยการขอยืมข้าว จากธนาคารไปก่อนแล้วนำมาใช้ คืน เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลได้ ในฤดูการผลิตต่อไป


โครงการธนาคารโค – กระบือ
โครงการนี้เปิดดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับธนาคารข้าว คือ ให้บริการแก่สมาชิก ที่ยากจนขอยืม โค – กระบือไปใช้ในงานไร่นา ตลอดจนขอ ยืมไปผสมพันธุ์ ซึ่งเมื่อมีการตกลูกตัวแรกออกมาแล้ว จึงค่อยนำมาใช้คืน
โครงการส่งเสริมอาชีพพิเศษ
ในยามที่เกษตรกรว่างจากการทำไร่นา หรือในระหว่างการรอผลผลิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ ให้เกษตรกร ประกอบอุตสาหกรรม ในครัวเรือน ซึ่งอาจเป็นการจักรสาน การทอผ้า หรืออื่น ๆ เพื่อเกษตรกร มีรายได้พิเศษขึ้น อีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน โครงการนี้ได้กลายรูปไปเป็น โครงการศิลปาชีพ ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีขอบข่ายกว้างขวาง จนเกษตรกรบางคน สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้พร้อม ๆ กันกับ การประกอบอาชีพ ทางการเกษตรเลยทีเดียว
โครงการการสหกรณ์
ในทุก ๆ แห่งที่มีโครงการเกี่ยวกับการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ โครงการสหกรณ์ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ทั้งยังเป็นการฝึกให้เกษตรกรได้ รู้การทำงาน เป็นกลุ่มในการจัดหาตลาด โดยได้ราคาอย่างยุติธรรม ซึ่งได้แก่ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี โครงการสหกรณ์ หุบกะพงษ์ เพชรบุรี เป็นต้น
นอกเหนือจากโครงการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีโครงการที่น่าสนใจอีก อาทิ
โครงการส่งเสริมใช้ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยหมัก
โครงการพระราชทานพันธุ์พืชและไม้ผล
โครงการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร
โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ
โครงการนาสาธิต
โครงการโคนมสวนจิตลดา
โครงการฟาร์มส่วนพระองค์หาดทรายใหญ่
โครงการโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตลดา
โครงการประมงแพร่พันธุ์ปลา
โครงการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการเกษตร ตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
และโครงการนาพืชอาหารสัตว์
โครงการไร่นาผสมผสานหรือโครงการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ
โครงการฟาร์มไก่ทรงเลี้ยง
โครงการเลี้ยงแพะและแกะภาคใต้
โครงการเลี้ยงสัตว์ทหารเขาชะโงก เป็นต้น

ด้านการศึกษาวิจัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจริง ที่ว่าเกษตรกร ส่วนใหญ่ของไทยได้รับการศึกษาน้อย จึงยากที่จะเข้าใจถึงหลักวิชาการสมัยใหม่ สมควร ที่จะได้รับอบรมถ่ายทอดความรู้ ด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม ประกอบกับประชาชนในภูมิภาค ต่าง ๆ ของประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งใน ด้านภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม ตลอดจน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ทำให้ราษฎรในภาคต่าง ๆ มีแบบแผนในการ ดำเนินชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของราษฎร ในท้องถิ่นต่างๆ เป็นไปบนพื้นฐาน แห่งความเป็นจริงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราช ดำริขึ้น
หน้าที่ของศูนย์การพัฒนาฯ คือ
การให้บริการทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรรวมทั้ง เผยแพร่ข่าวสาระ การพัฒนาที่ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่นไปยังประชาชน และพัฒนากรในพื้นที่เป้าหมายนั้นๆ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นี้ เปรียบเสมือนเป็น แบบจำลองใน การจัดกิจกรรมด้านการพัฒนาต่างๆ ที่ถูกนำมารวบรวมไว้ในที่เดียวกัน เพราะจะมีการค้นคว้าวิจัย ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการเกษตร หลังจากการทดลอง ได้ผลดีแล้ว จะมีการเผยแพร่และสาธิต เพื่อเป็นแนวทาง ให้กับประชาชน ได้เห็นได้สัมผัสด้วยตนเอง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเป็นผู้เลือก สถานที ที่ะจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เหล่านี้ ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เป็นที่แน่ พระทัยว่า สถานที่นั้น ๆ เหมาะสมที่สุด ที่จะบริการในด้านการพัฒนาต่างๆ ตามที่ ทรงตั้งเป้าหมายไว้
ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาฯ ขึ้นแล้วจำนวน 6 แห่ง ในท้องที่เขตภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้ คือ
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม ่
2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ พิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ในการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎร ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่ามีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วย เพราะขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง บ้างก็ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะใช้ในการรักษาซึ่งทรงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไขด้วย ทรงมีพระราชดำริว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนา ชาติได้เพราะทรัพยากร ที่สำคัญของประเทศชาติก็คือพลเมืองนั่นเอง”
ดังนั้นในขั้นแรกได้ทรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์และแพทย์ในขบวนเสด็จ ทำการตรวจรักษาคนไข้ เฉพาะรายที่ทรงพบ ในหมู่บ้านราษฎรที่ทรงพบในหมู่บ้านราษฎรที่รอเฝ้ารับเสด็จฯ ต่อมาคนไข้ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จึงทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะมีหน่วยงานรับผิดชอบในด้านนี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้การบำบัดรักษาโรคภัยได้ผลสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งโครงการต่างๆ ในด้านนี้ขึ้น ดังนี้
1.โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน : เป็นคณะแพทย์ที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ออกไปทำการรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บถึงบ้าน ตามคำกราบบังคมทูล ของหม่อมเจ้าภีศเดชรัชนี ที่ว่าควรจะมีแพทย์ไปตรวจรักษาราษฎรในเขตที่มีผู้ก่อการร้าย คุกคามในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งต่อมาหน่วยแพทย์พระราชทาน ก็ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ในจังหวัด นั้นๆออกร่วมปฏิบัติการด้วย ปัจจุบันแม้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะหมดสิ้นไปแล้ว หน่วยแพทย์พระราชทานนี้ ก็ยังคงออกให้บริการ ในถิ่นทุรกันดารตามแต่จะทรงมีพระราชบัญชา
2.โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน :ขณะที่เสด็จแปรพระราชฐาน ไปยังต่างจังหวัด จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จ ทำการตรวจรักษาคนไข้ ณ จุดตรวจที่บริเวณหน้าพระตำหนักที่ประทับ ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนมาขอรับบริการเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง
3.โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ : ในท้องที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ มีฐานะไม่ดีสุขภาพไม่ดี การคมนาคมไม่สะดวก และมีสถานบริการทางสุขภาพ อนามัยอยู่เพียงแห่งเดียว เช่น ที่กิ่งอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ของราษฎรเหล่านี้ จึงทรงขอให้หน่วยราชการ จัดคณะแพทย์ หมุนเวียนกันเข้าไปให้บริการตรวจรักษาประชาชนเป็นประจำ
4.หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน : เป็นทันตแพทย์ อาสาสมัคร ในรูปหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตามพระราชดำริ เดินทางออกไป ช่วยเหลือบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับฟันโดยไม่คิดมูลค่า รวมทั้งยังสอน การรักษาอนามัยของปากและพันให้แก่นักเรียนและราษฎร ที่อาศัยอยู่ในเขตทุรกันดารห่างไกลในทุกภาค ของประเทศ
5. โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย : เกิดจากการที่คนไข้ จำนวนมากในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นคนไข้ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าดัด ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงจัดโครงการศัลยแพทย์อาสาถวาย โดย การส่งคณะศัลยแพทย์ ที่มีความชำนาญในสาขาต่างๆ ไปทำการผ่าตัดรักษา ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ทรงแปรพระราชฐานโดยทำงานร่วมกันกับหน่วยแพทย์พระราชทาน
6.โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน : มีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรี่ยวกับ หู คอ จมูก และโรค ภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัคร ในโรคดังกล่าว ผลัดกันออกไปปฎิบัติหน้าที่ ประจำอยู่ในโรงพยาบาล ประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยในระยะแรกๆมี พล.ท. นายแพทย์อัศวิน เทพาคำ เป็นหัวหน้าชุด
7.โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ : ความเจ็บป่วยของราษฎรจำนวนไม่น้อย เกิดจากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เบื้องต้นอย่างถูกต้อง ประกอบกับไม่มีสถานพยาบาลอยู่ใกล้เลย บ้างก็เกิดจากการ บริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทรงมีพระราช ดำริ จัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านขึ้น โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้าน ที่พออ่านออกเขียนได้ มารับการฝึกอบรมในเรื่องการรักษา พยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่ายๆ การโภชนาการ เพื่อฐานะที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้








เพลงน่าฟัง